โรงเรียนสุรวิวัฒน์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี จัดการศึกษาในระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นและระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย ดำเนินการจัดการเรียนรู้ตามกรอบทิศทางของหลักสูตรแกนกลางการศึกษา
ขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 โดยโรงเรียนมีการปรับปรุงและพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้มีความทันสมัย ได้มาตรฐาน และสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงตามนโยบายการพัฒนาการศึกษาของชาติ และแนวทางการดำเนินงานของโรงเรียนที่มุ่งให้ผู้เรียนเป็นคนดี มีปัญญา มีคุณภาพชีวิตที่ดีสามารถดำรงชีวิตอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุข

ตลอดระยะเวลาการดำเนินการจัดการเรียนการสอนตั้งแต่ปีพุทธศักราช 2558 ถึงปัจจุบัน โรงเรียนสุรวิวัฒน์ฯ มีการปรับปรุงหลักสูตรสถานศึกษาทั้งสิ้น 3 ครั้ง ซึ่งปัจจุบันจัดการเรียนการสอนตามหลักสูตรโรงเรียนสุรวิวัฒน์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี พุทธศักราช 2558 (ฉบับปรับปรุง พุทธศักราช 2561)

จุดเน้นของหลักสูตร

โรงเรียนสุรวิวัฒน์ฯ พัฒนาและปรับปรุงหลักสูตรโดยยึดแนวทางการจัดการศึกษาแบบ “STEAMS (Science , Technology , Engineering , Arts , Mathematics และ Sports)” ที่นักเรียนจะเกิดการเรียนรู้และสามารถบูรณาการทักษะด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรม ศิลปะ คณิตศาสตร์ กีฬา รวมถึงทักษะทางภาษา ที่นำพาไปสู่ความเป็นพลเมืองโลกในศตวรรษที่ 21 ได้อย่างสุขสมบูรณ์ ซึ่งนักเรียนทั้งระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นและระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายจะได้รับการสนับสนุน ส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพผ่านจุดเน้นของหลักสูตรในด้านต่าง ๆ ต่อไปนี้

  • การทำโครงงานและการสร้างสรรค์นวัตกรรม
    Research and Innovation


    นักเรียนทุกคนต้องทำโครงงานและนำเสนออย่างน้อย 1 โครงงาน ในทุกช่วงชั้นปีเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการสำเร็จการศึกษา โดยสามารถเลือกประเภทของโครงงานได้ตามความถนัดและความสนใจ เช่น โครงงานภาษาไทย โครงงานวิทยาศาสตร์ ฯลฯ เพื่อฝึกกระบวนการคิด ค้นคว้าหาความรู้อย่างมีระบบระเบียบตามวิธีการทางวิทยาศาสตร์

  • การเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์และประยุกต์ใช้เทคโนโลยี
    Digital Technology


    นักเรียนจะได้เรียนรู้วิธีการจัดการและใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีเพื่อช่วยอำนวยความสะดวกและสนับสนุนการเรียนรู้ในทางที่ถูกต้องและเหมาะสม ผ่านรายวิชาการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ วิทยาการคำนวณ และ Internet of Things เพื่อฝึกทักษะการคิดเชิงตรรกะ และการแก้ปัญหาเชิงระบบ

  • การบูรณาการภาษาอังกฤษในทุกรายวิชา
    English Integration


    โรงเรียนสุรวิวัฒน์ฯ ให้ความสำคัญกับการเรียนรู้ภาษาอังกฤษอย่างต่อเนื่อง ด้วยการสนับสนุนให้ทุกรายวิชามีการนำภาษาอังกฤษเข้าไปบูรณาการในการสอน โดยเริ่มต้นจากการสอดแทรกเนื้อหาภาษาอังกฤษในสื่อประกอบการสอน และฝึกการนำเสนอเป็นภาษาอังกฤษ เพื่อให้ผู้เรียนเกิดการซึมซับ คุ้นเคย และเปิดใจที่จะเรียนรู้ด้านภาษา รวมทั้งมีกิจกรรมกระตุ้นให้ผู้เรียนใช้ภาษาอังกฤษในการสื่อสาร อาทิ กิจกรรม Morning Talk , กิจกรรม English Market Day

  • การสื่อสารภาษาจีน
    Chinese


    การติดต่อสื่อสารในยุคศตวรรษที่ 21 เปิดกว้างและภาษาจีนเข้ามามีบทบาทมากขึ้นทั้งในด้านเศรษฐกิจ ด้านการศึกษา ฯลฯ โรงเรียนสุรวิวัฒน์ฯ เห็นว่าการรู้ภาษาจีนจะเป็นสิ่งที่ช่วยสร้างโอกาสให้กับนักเรียน ให้สามารถนำไปใช้ต่อยอดในการศึกษาหรือทำงานได้ในอนาคต จึงเปิดวิชาภาษาจีนเป็นรายวิชาเพิ่มเติมกลุ่ม 1 สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นโดยกำหนดให้นักเรียนเรียนตั้งแต่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 – 3 และในระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายเปิดเป็นวิชาเลือกเพิ่มเติมให้นักเรียนลงทะเบียนเรียนได้ตามความสนใจ

  • การปลูกฝังแนวคิดความเป็นผู้ประกอบการ
    Entrepreneurship


    หลักสูตรโรงเรียนสุรวิวัฒน์ฯ ทั้งในระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นและระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายได้จัดให้มีรายวิชาและกิจกรรมที่ส่งเสริมความเป็นผู้ประกอบการทั้งด้านแนวคิดและการลงมือปฏิบัติ โดยโรงเรียนสุรวิวัฒน์ฯ ได้รับความอนุเคราะห์จากสถานพัฒนาความเป็นผู้ประกอบการสำหรับนักศึกษา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (Student Entrepreneurship Development Academy หรือ SEDA) เข้ามาช่วยดำเนินการ

  • การเรียนรู้จากปราชญาจารย์และห้องปฏิบัติการของมหาวิทยาลัย
    Faculty and Facility Sharing


    โรงเรียนสุรวิวัฒน์ฯ ต้องการให้นักเรียนเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ เทคโนโลยี และภาษาในเชิงลึกจากผู้เชี่ยวชาญในศาสตร์สาขาวิชานั้น ๆ โดยตรง  จึงกำหนดให้หลายวิชาในหลักสูตรดำเนินการจัดการเรียนการสอนโดยอาจารย์มหาวิทยาลัย และบุคลากรผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง เช่น Nanotechnology, Robotics, Food Science ฯลฯ  นอกจากนี้ หลักสูตรยังมุ่งเน้นให้นักเรียนได้ลงมือปฏิบัติและค้นคว้าหาคำตอบด้วยตนเองผ่านการใช้แหล่งเรียนรู้และห้องปฏิบัติการของมหาวิทยาลัย

  • การเรียนตามความชอบ ความถนัดและศักยภาพ
    Favorite Course


    หลักสูตรระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น มุ่งให้นักเรียนได้เรียนรู้ทักษะและค้นหาความชอบและความถนัดของตนเอง จึงเปิดรายวิชาเพิ่มเติมกลุ่ม 2 หรือรายวิชาเลือกเสรี ให้นักเรียนเลือกลงทะเบียนเรียน เพื่อพัฒนาอย่างเต็มตามศักยภาพ และหลักสูตรระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายมุ่งเน้นด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและภาษา เพื่อให้นักเรียนที่สำเร็จการศึกษาขั้นพื้นฐาน สามารถศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาได้อย่างมีคุณภาพและไร้รอยต่อทางด้านวิชาการ

  • การสร้างและพัฒนาทักษะในศตวรรษที่ 21
    21st Century Skills


    หลักสูตรโรงเรียนสุรวิวัฒน์ฯ ไม่เพียงแต่ส่งเสริมให้ผู้เรียนมีทักษะด้านวิชาการแล้ว ยังมีการพัฒนาผู้เรียนผ่านการทำกิจกรรม อาทิ กิจกรรมวันสำคัญต่าง ๆ กิจกรรมชุมนุม กิจกรรมสาธารณประโยชน์ ซึ่งช่วยให้ผู้เรียนเกิดทักษะที่จำเป็นในการดำรงชีวิตในศตวรรษที่ 21 เช่น ทักษะการคิดอย่างสร้างสรรค์ ทักษะการบริหารจัดการ ทักษะการทำงานเป็นทีม ทักษะการแก้ปัญหาอย่างมีเหตุผล ทักษะการสื่อสาร ฯลฯ

รูปแบบการจัดการเรียนการสอน

โรงเรียนสุรวิวัฒน์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี เป็นหน่วยปฏิบัติการทดสอบรูปแบบการจัดการเรียนการสอนตามแนวการศึกษาค้นคว้าด้านการเรียนรู้ทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและภาษา ซึ่งดำเนินการจัดการเรียนสอนด้วยวิธีการที่หลากหลาย รายละเอียดรูปแบบการจัดการเรียนการสอน มีดังนี้

  1. การพัฒนาผู้เรียนตามศักยภาพ (Bridging Course)

โรงเรียนสุรวิวัฒน์ฯ นำผลคะแนน Placement Test ของนักเรียนจากคะแนนการสอบเข้าศึกษาต่อในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 และชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 มาพิจารณาและจัดกลุ่มตามระดับความสามารถของนักเรียน เพื่อจัดการเรียนการสอน Bridging Course ให้ตรงตามความถนัดของนักเรียนแต่ละกลุ่ม และจะมีการติดตามผลและทดสอบพัฒนาการนักเรียนในทุกภาคเรียน เพื่อปรับระดับให้เหมาะสมกับศักยภาพของผู้เรียนอย่างต่อเนื่อง

 

  1. การบูรณาการเทคโนโลยีในการสอน (Technology Integration)

ครูผู้สอนมีการใช้คอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และเครื่องมือเทคโนโลยีสารสนเทศมาช่วยอำนวยความสะดวก เช่น กระดานอัจฉริยะ (Smart Board) เทคโนโลยี AR (Augmented Reality) และใช้เป็นสื่อสนับสนุนการเรียนรู้ในทุกชั้นเรียนตามความเหมาะสม เพื่อจูงใจและกระตุ้นการเรียนรู้ และเปิดโลกแห่งการเรียนรู้ให้กับนักเรียน นอกจากนี้ นักเรียนให้มีทักษะสารสนเทศ สื่อ เทคโนโลยี เลือกใช้เทคโนโลยีในทางที่ถูกต้อง

 

  1. การจัดการเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นฐาน (Problem-based Learning)

ฝึกทักษะในการคิดและแก้ปัญหาในชีวิตประจำวัน โดยใช้ปัญหาหรือสถานการณ์เป็นตัวกระตุ้นในการแสวงหาความรู้ความเข้าใจด้วยตนเองให้ได้คำตอบและแนวทางแก้ไขที่ดีและเหมาะสม ซึ่งโรงเรียนมีกิจกรรมส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้ดังกล่าว อาทิ กิจกรรม Surawiwat Innovation Challenge : Fly Trap ให้นักเรียนคิดค้นนวัตกรรมแก้ปัญหาแมลงวันในโรงอาหาร ทำให้นักเรียนเกิดการเรียนรู้คู่ขนานกับการปฏิบัติจริง (Active Learning)

 

  1. การฝึกประสบการณ์อาชีพและจิตอาสา (Career Development)

โรงเรียนสนับสนุนให้นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายเข้ารับการฝึกประสบการณ์ทางอาชีพในสถานประกอบการต่าง ๆ เช่น โรงพยาบาล คลินิก หน่วยงานสาธารณสุข ฟาร์มมหาวิทยาลัย ฯลฯ โดยมีครูที่ปรึกษาและครูแนะแนวให้คำแนะนำ ดูแลร่วมกับสถานประกอบการ เพื่อให้นักเรียนได้มีโอกาสเรียนรู้ เข้าใจลักษณะบทบาทและหน้าที่ของอาชีพตามความสนใจ และเป็นการค้นหาแนวทางในการประกอบอาชีพที่เหมาะสมกับความถนัดและศักยภาพของตนเอง

 

  1. การเรียนรู้จากผู้เชี่ยวชาญ (Experimental Expert Instruction/ Tacit Knowledge)

นักเรียนโรงเรียนสุรวิวัฒน์ฯ จะได้เรียนรู้คู่การปฏิบัติจริงโดยความร่วมมือจากคณาจารย์และบุคลากรผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ในการจัดการเรียนการสอน เช่น วิชางานช่าง วิชา Robotics วิชาคหกรรม ฯลฯ รวมถึงการใช้แหล่งเรียนรู้ของมหาวิทยาลัยและภายในมหาวิทยาลัย อาทิ ศูนย์เครื่องมือวิทยาศาสตร์ ศูนย์นวัตกรรมทางการศึกษา ฟาร์มมหาวิทยาลัย หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา นครราชสีมา อุทยานการเรียนรู้สิรินธร สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน)

 

  1. การประเมินตามสภาพจริง (Authentic Assessment)

ปัจจุบันโรงเรียนสุรวิวัฒน์ฯ ได้เริ่มดำเนินการการลดบทบาทการประเมินด้วยการสอบกลางภาคในบางรายวิชา และเสริมวิธีการประเมินที่สอดคล้องกับธรรมชาติการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ เช่น ในรายวิชาภาษาอังกฤษของทุกระดับชั้น โดยใช้วิธีการประเมินการปฏิบัติจริงและการมีส่วนร่วมในชั้นเรียน ทำให้ครูเห็นความสามารถที่แท้จริงของผู้เรียนทั้งด้านความสามารถ ทักษะ ความคิดขั้นสูง ความสามารถในการแก้ปัญหาและการประยุกต์ใช้วิชาการต่าง ๆ เพื่อสามารถนำไปช่วยเหลือและส่งเสริมผู้เรียนให้เกิดการพัฒนาเต็มตามศักยภาพ และนำไปปรับใช้กับรายวิชาอื่นต่อไป